
รู้จักกับคีลอยด์ (Keloide)
คีลอยด์แผลเป็นก้อนนูนที่น่ากังวลใจ
คีลอยด์ (Keloide) คืออะไร?
คีลอยด์ (Keloide) คือรอยแผลเป็นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นก้อนนูน สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้เรื่อย ๆ จนเกินขอบเขตของบาดแผลเดิม ในช่วงแรกคีลอยด์จะมีสีเดียวกับผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการเจ็บและคัน อย่างไรก็ตาม เมื่อระยะเวลาผ่านไป สีผิวบนก้อนคีลอยด์อาจมีสีคล้ำลงได้ โดยคีลอยด์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่มักพบที่บริเวณใบหู
สาเหตุของการเกิดคีลอยด์
คีลอยด์เกิดจากการซ่อมแซมบาดแผลในร่างกายที่มากผิดปกติ สามารถเกิดได้กับทุกบาดแผล เช่น บาดแผลบริเวณใบหูจากการประสบอุบัติเหตุ หรือหลังจากเจาะหู โดยการเจาะหูบริเวณใบหูจะมีโอกาสเกิดคีลอยด์มากกว่าส่วนอื่น ๆ เพราะต้องเจาะผ่านกระดูกอ่อนใบหู บาดแผลจากการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดคลอดบุตร คีลอยด์ที่เกิดหลังการเป็นสิว ไม่ว่าจะเป็นสิวบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก หรือหลัง และคีลอยด์ที่เกิดหลังการสัก เป็นต้น
วิธีการรักษาคีลอยด์
การรักษาคีลอยด์ แบ่งเป็น 2 วิธีหลัก ๆ คือ การรักษาด้วยการผ่าตัด และการรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด โดยการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะเหมาะกับคีลอยด์บางตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่แล้ว มักใช้ผ่าตัดคีลอยด์บริเวณใบหูที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดคีลอยด์ ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องรักษาเสริมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคีลอยด์ขึ้นมาใหม่ หรือรักษาคีลอยด์ที่เหลืออยู่จากการผ่าตัด
ในส่วนของการรักษาคีลอยด์ที่ไม่ใช่การผ่าตัด จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีคีลอยด์บริเวณใบหูที่มีขนาดเล็ก หรือคีลอยด์ในตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า คอ หน้าอก หน้าท้อง หลัง แขนและขา หรือเป็นการรักษาเสริมต่อเนื่องหลังการผ่าตัด โดยจะต้องทำติดต่อกันประมาณ 3 – 5 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ผู้ทำการรักษา
ตัวอย่างการรักษาคีลอยด์ที่ไม่ใช่การผ่าตัด เช่น การฉีดสเตียรอยด์ การฉายแสงปริมาณต่ำ การใช้เครื่องเลเซอร์ เช่น CO2 Laser, Argon, Nd-Yag, PDL, Picosecond laser การรักษาด้วยความเย็น และการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive agent) เช่น 5-FU, Mitomycin C เป็นต้น
คีลอยด์จำเป็นต้องรักษาไหม
คีลอยด์เป็นแผลเป็นชนิดหนึ่ง ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง จึงไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม คีลอยด์อาจส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการรักษาคีลอยด์สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองได้
แนวทางการรักษาคีลอยด์ที่ Grow & Glow Clinic
Grow & Glow Clinic (คลินิกเวชกรรมโกรว์แอนด์โกลว์) เชี่ยวชาญการรักษาคีลอยด์บริเวณใบหูเป็นหลัก โดยจะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ควบคู่กับการฉีดสเตียรอยด์ และใช้เลเซอร์ CO2 Laser เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งแพทย์จะนัดผู้เข้ารับการรักษาผ่าตัดคีลอยด์มาตัดไหมในอีก 10 วันหลังผ่าตัด ในกรณีที่กลับมาเป็นซ้ำ จะนัดรักษาเสริมและติดตามผลอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 – 5 เดือน อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียว ระยะเวลาในการฉีดสเตียรอยด์จะขึ้นอยู่กับขนาดของคีลอยด์ โดยแพทย์จะนัดฉีดเดือนละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 3 – 5 เดือน ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการรักษาคีลอยด์จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการประเมินก่อน